โครงการการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 13
การประชุมวิชาการระดับนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 12 และ
การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมราชมงคล ครั้งที่ 5
The 13th Rajamangala University of Technology National Conference (13th RMUTNC)
The 12th Rajamangala University of Technology International Conference (12th RMUTIC) and 5th RMUT Innovation Awards 2023

หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.  2548 เหตุผลโดยมีมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 บัญญัติให้สถานศึกษาของรัฐที่ดำเนินการศึกษารับปริญญาเป็นนิติบุคคลเพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินกิจการโดยอิสระสามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัวและมีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ดังนั้นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง ขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยให้ผู้สำเร็จการอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ได้มีเครือข่ายดำเนินงานร่วมกันในหลายกิจกรรม อาทิการจัดการเรียนการสอน การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การบริหารจัดการ การประกันคุณภาพ รวมถึงการวิจัยและบริการวิชาการ โดยเฉพาะการจัดประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และหมุนเวียนความรับผิดชอบในการเป็นเจ้าภาพ ดังนี้ 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 3)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 4)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 8) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และ 9) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 8 แห่ง รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 13 และการประชุมวิชาการนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 12 และการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมราชมงคล ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “9 RMUT Empowering and Promoting of Sustainable Innovation and BCG Model for The Next Normal (๙ ราชมงคล เสริมพลัง ผลักดัน นวัตกรรมยั่งยืน และ ขับเคลื่อนวิถีชีวิตยุคต่อไปด้วยต้นแบบ BCG)” ประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ คือ การบรรยายพิเศษ (Guest Speakers / keynote speakers) การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ การประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การประกวดผลงาน RMUT Start up และการจัดแสดงนิทรรศการผลงานทางวิชาการ

สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดยุทธศาสตร์โดยจัดลำดับความสำคัญ มุ่งเน้นกิจกรรมที่ทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก รวมทั้งทางด้านการวิจัย โดยการวิจัยจะต้องก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สามารถประเมินผลได้ และแปรรูปเชิงผลลัพธ์ที่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างชัดเจน ดังนั้นงานวิจัยจึงจำเป็นต้องมีการเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษา และเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ และตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ที่พัฒนาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ กลยุทธ์ที่ S3.1.4 สนับสนุนให้ทำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับของสังคมและนำไปแก้ไขหรือพัฒนาชุมชน สังคมได้ ตัวชี้วัดที่ S3141 จำนวนผลงานวิจัยเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ประโยชน์ และนำไปแก้ไขหรือพัฒนาชุมชน สังคม ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ด้านการวิจัยซึ่งกันและกันระหว่างนักวิจัยด้วยกัน ตลอดจนประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนา จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดการประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 13 และการประชุมวิชาการนานาชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 12 และการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมราชมงคล ครั้งที่ 5 เพื่อเป็นการเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมและขยายองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การปฏิบัติให้กว้างขวาง และเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในแต่ละศาสตร์ อันจะนำไปสู่การสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ

 

 วัตถุประสงค์ / ตัวชี้วัดของวัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด (ในเชิง Outcome)
1. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักวิจัยได้นำผลงานไปนำเสนอในเวทีการประชุมวิชาการ 1. นักวิจัยมีเวทีการนำเสนอผลงานทางวิชาการของตนเองให้เป็นที่ยอมรับ
2. เพื่อสนับสนุนการนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและผลงาน Start up  ไปจัดแสดงและเผยแพร่สู่สาธารณชน 2.ผู้ที่สนใจนำความรู้และแนวคิดที่ได้รับจากการจัดแสดงไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ/สินค้า ของตนเอง/หรือนำไปเป็นแนวทางในการสร้างองค์ความรู้ใหม่

  กิจกรรมภายในงาน

1)   การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ

–    การนำเสนอในภาคบรรยาย (Oral presentation)

–    การนำเสนอในภาคโปสเตอร์ (Poster presentation)

2)  การประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

3)  การประกวดผลงาน RMUT Start up

4)  นิทรรศการผลงานทางวิชาการ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่ง และหน่วยงานภาคี)